
LHBANK คงเป้าสินเชื่อปี 68 โต 7 - 8% ลุยเพิ่มรายได้ - บริหารต้นทุน - รับดอกเบี้ยขาลง
24 ก.ค. 2568 00:00กลุ่มธุรกิจทางการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LHFG) เผยผลงานครึ่งปีแรก กำไรสุทธิ 1,121 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.8% ขณะที่ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LHBANK) คงเป้าสินเชื่อโตทั้งปีที่ 7 - 8% โฟกัสกลุ่ม High yield ทั้ง Home for cash รีไฟแนนซ์บ้านมือสอง รวมถึงสินเชื่อบุคคล พร้อมกับบริหารต้นทุนให้เหมาะสม
กลุ่มธุรกิจทางการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LHFG) แจงผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2568 กลุ่มธุรกิจทางการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีกำไรสุทธิ 1,121 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.8 และมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 361,287 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ผลการดำเนินงานของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ครึ่งแรกของปี 2568 มีกำไรสุทธิ 1,103 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สินเชื่อเติบโตร้อยละ 3.4 จากสิ้นปี 2567 หลักๆ เป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อรายย่อยร้อยละ 9.3 และสินเชื่อธุรกิจร้อยละ 1.8 และธนาคารได้ขยายสินเชื่อ SME ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์สินเชื่อเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม (Product Program) ส่งผลให้สินเชื่อ SME เติบโตอย่างมีนัยสำคัญจากสิ้นปีก่อน
นายฉี ชิง-ฟู ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH Bank เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของธนาคารในช่วงครึ่งปีแรกถือว่าน่าพอใจ สินเชื่อเติบโตได้ดีที่ 3.4% ซึ่งสูงกว่าอุตสาหกรรม โดยการขับเคลื่อนจากทุกกลุ่ม อาทิ สินเชื่อรายย่อยเติบโต 9% สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่โต 6% สินเชื่อธุรกิจระหว่างประเทศเติบโต 9.9% ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2568 อยู่ที่ระดับ 261,000 ล้านบาท จากสิ้นปี 2567 ที่ 252,000 ล้านบาท
สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 2.5% ซึ่งอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้และยังอยู่ภายใต้กรอบที่ตั้งไว้ 3% ขณะที่ NIM ลดลงมาที่ 2.04% จากระดับ 2.32% เนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งก็ส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินโดยรวม และคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 - 2 ครั้ง ดังนั้น ธนาคารจึงให้ความสำคัญกับการเพิ่มรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย และการบริหาร Cost of Fund เพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว ขณะเดียวกัน การปรับลดอัตราดอกเบี้ยก็ส่งผลในทางที่จะสนับสนุนความต้องการลงทุน และบรรเทาภาระของผู้กู้ด้วย
"ส่วนการที่นายวิทัย รัตนากร จะเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) นั้น มองว่าประเด็นที่ต้องติดตามเป็นเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเรามองว่าจะลด 2 ครั้งในปีนี้ถึงต้นปีหน้า ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าปัจจัยดังกล่าวจะช่วยลดภาระลูกหนี้ แต่ก็กระทบกับ NIM ของธนาคารเข่นกัน จึงมองว่าจะต้องดูแลในเรื่องของการเพิ่มรายได้ และบริหารต้นทุนเงินทุนควบคู่กันไป"
นอกจากนี้ ธนาคารยังคงเป้าหมายสินเชื่อทั้งปีที่ตั้งเป้าหมายไว้ 7 - 8% โดยหากประเมินจากการเติบโตของสินเชื่อในครึ่งปีแรกแล้วก็มีความเป็นไปที่จะเติบโตตามเป้าหมาย ขณะที่การตั้งสำรองนั้นไม่น่าจะเพิ่มจากครึ่งปีแรก เนื่องจากได้มีการตั้งสำรองไว้สูงแล้วนับจากช่วงโควิคฯที้ผ่านมา
"ในระยะต่อไปเราจะโฟกัสไปที่กลุ่ม High yield ไม่ว่าจะเป็น Home for cash, รีไฟแนนซ์บ้านมือสอง หรือสินเชื่อบุคคล ไปพร้อมๆ กับการเร่งช่วยเหลือลูกค้าผ่านโครงการคุณสู้ เราช่วยอย่างต่อเนื่อง และยังให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้า FDI ที่มองว่าตัวเลขการเข้ามาลงทุนน่าจะเติบโตได้ 5% ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารได้เปิดสาขาอมตะนครเพื่อรองรับการลงทุนส่วนนี้"
สำหรับกลยุทธของธนาคารระหว่างปี 2568 - 2572 โดยมุ่งเน้นเพิ่มความสามารถในการหารายได้ทั้งในส่วนของได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย และการบริหาร Cost of Fund ไปพร้อมๆกับการขยายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของธนาคาร รวมถึงร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อให้เกิดการ Cross sale เพิ่มขึ้น และการนำ Digital & AI มาใช้มากขึ้น โดยในเดือนสิงหาคมก็จะมีการเปิดตัวแพลตฟอร์มที่จะมาให้บริการกับกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ด้วย และยังให้ความสำคัญกับการสนับสนุนลูกค้าในการเปลี่ยนผ่านทางด้าน Sustainable อีกด้วย