
“ผยง” สะท้อนปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ แนะ 3 ทางออก “กระตุก-ประคอง-ปฎิรูป”
15 ก.ค. 2568 00:00“ผยง ศรีวณิช” สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ ไทยมีขนาดเศรษฐกิจนอกระบบสูงก่อให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้าง แนะ 3 ทางออกเร่ง “กระตุก - ประคอง - ปฎิรูป” การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้คุ้มค่า ด้วยการ Target ให้ชัดเจน - ไม่เหมารวม ขณะเดียวกันต้องเร่งยกระดับการสร้างรายได้-เพิ่มโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมสนับสนุนนโยบายการแก้ปัญหาหนี้ของผู้ว่าฯ ธปท. คนใหม่
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทยและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยในงาน iBusiness Forum Decode 2025 : The Mid-Year Signal ถอดสัญญาณเศรษฐกิจโลก พลิกอนาคตเศรษฐกิจไทย ว่า ขณะนี้นี้ศักยภาพของไทยกำลังจะถูกท้าทายด้วยมาตรการภาษีตอบโต้ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขไม่ว่า 10% 30% หรือจะตกลงได้ที่ 20% หรือไม่ ก็คือการเจอกับความแน่นอน แล้วเราก็ต้องอยู่กับมัน แม้ว่าบนความไม่แน่นอนนั้นสร้างแรงกระเพื่อมอย่างมีนัยสำคัญให้กับระบบเศรษฐกิจของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะที่ปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย หากมองให้ลึกลงไปปัญหาในประเทศ คือการมีเศรษฐกิจนอกระบบสูงถึง 48% และได้นำไปสู่ผลข้างเคียงในภาคส่วนอื่นๆอีกมากมาย ดังนั้น ในสภาวะที่เราติดกับดักแบบนี้ต้องเดินหน้า 3 ส่วนไปพร้อมกัน หนึ่งมาตรการกระตุก โดยเฉพาะในเรื่องของหนี้ครัวเรือน หรือหนี้ SME สองประคองกลุ่มที่ยังไปได้แต่ได้รับผลกระทบเฉียบพลันจากภาษีตอบโต้ และสามที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ปฏิรูป ต้องแยกแยะกลุ่มให้ชัดเจน เพราะทรัพยากรไม่ได้ไม่มีวันหมด แต่ละกลุ่มมีความต้องการทรัพยากรที่ต่างกัน อย่าเหมาเข่ง เหมารวม หรือใช้ทรัพยากรสาธารณะที่มีอยู่จำกัดอย่างไม่คุ้มค่า อุตสาหกรรมที่เราควรสนับสนุน ทักษะที่ประเทศหรือแรงงานที่ต้องการต้องมี และการจ้างงานที่มีรายได้ก็จะนำสู่รายได้รัฐมีให้รายได้เช่น ตอบโจทย์เรื่องทิศทางเศรษฐกิจในอนาคต ก็คือต้องสามารถเป็นสิ่งที่จะช่วยคนที่กำลังจะจมน้ำ คนที่ต้องการการประคอง และเร่งสร้างกล้ามเนื้อใหม่ให้กับระบบเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน
"มาตรการกระตุกหนี้ ทั้งธนาคารพาณิชย์ - ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีมาตรการคุณสู้ เราช่วย หวังว่าจำนวนลูกหนี้จะสามารถเข้ามาเร่งใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่สิ่งที่ท้าทายคือโครงสร้างทรัพยากรที่ออกแบบมาเน้นไปที่คนที่มีหนี้อยู่ในระบบ ไม่รวมแม้กระทั่งนอนแบงก์ที่อยู่นอกระบบ แต่ประเทศมีหนี้นอกระบบอยู่จำนวนมาก เพราะฉะนั้น การมีข้อมูลที่เชื่อมโยงและเป็นข้อเท็จจริงที่เราสามารถมาขบคิดออกนโยบายสาธารณะได้อย่างเชื่อมโยงถูกจุด ไม่ระยะสั้น ประคับประคอง เยียวยา เร่งสร้างในสิ่งที่ต้องปฏิรูปด้วยเป็นสิ่งสำคัญ"
นอกจากนี้ ประเทศเรายังต้องมีการลงทุนอีกมาก เพดานหนี้สาธาณะที่ 70% คงต้องปรับ แต่จะใช้ทรัพยากรเหล่านั้นไปทำอะไร เป็นสิ่งที่เราต้องมาช่วยกันทบทวน อย่างที่ว่าในวิกฤติมีโอกาส ตอนนี้ในช่วงที่ประเทศไทยเจอหลายปัญหาถาโถมแต่ก็เป็นโอกาสที่จะเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ แต่ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ได้ใช้โอกาสนี้เลย
นายผยง กล่าวอีกว่า โดยสรุปก็คือมาตรการต้อง Target มากๆ เชื่อมโยงในเชิงห่วงโซ่อุปทาน และมาตรการเหล่านั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องใช้เงิน ต้องกลับไปทบทวนงบประมาณปี 69 หรือไม่ในเรื่องของการใช้ และหนี้สาธารณะต้องถูกเพิ่มเพดาน แต่จะนำมาใช้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาเราใช้เงินส่วนนี้ไปมากกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จนทำให้ทรัพยากรมีเหลือน้อยในการนำมาปฏิรูปเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ขึ้นอยู่กับทุกภาคส่วน ภาคเอกชน ภาคประชาชน ก็ต้องมาร่วมเติมเต็มในสิ่งที่เราเห็นภาพ สร้างองค์ความรู้ความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ ทั้งหมดนี้ก็จะเป็นการมองวิกฤตินี้ให้เป็นโอกาส
พร้อมหนุนนโยบายแก้หนี้ผู้ว่าคนใหม่
สำหรับการสานต่อนโยบายการเงินของผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่นั้น นายผยง กล่าวว่า อาจจะต้องรอผูัว่าคนใหม่แถลงนโยบายก่อน แต่เชื่อว่าทุกท่านมีประสบการณ์ และในภาคการเงิน-ระบบสถาบันการเงินพร้อมสนับสนุนนโยบายที่ช่วยแก้ปัญหา โดยเฉพาะนโยบายการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง และนโยบายแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยเฉพาะภารกิจนโยบายการแก้หนี้ เชื่อว่าเป็นนโยบายอันดับแรกๆของทั้งรัฐบาล ธปท. และสมาคมธนาคารไทย ซึ่งเห็นชัดว่าทุกคนพยายามทำ แต่มีปัญหาซับซ้อนในเชิงโครงสร้าง และยังมองข้ามปัญหาในเชิงโครงสร้าง เช่น การเอื้อให้คนอยู่นอกระบบ และมาแชร์ข้อมูลในระบบ จะเป็นการสร้างระบบนิเวศก่อให้เกิดการเอื้อประโยชน์ให้คนอยู่นอกระบบ จึงเป็นสิ่งที่ท้าทาย โดยระบบจะต้องทำให้ทุกคนเห็นเท่ากัน
"เขื่อว่าผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อมีความรู้ความสามารถ ส่วนการดำเนินนโยบายก็ต้องรอฟังอีกที"