MENU

ธปท.ห่วงลงทุนต่ำฉุดศักยภาพเศรษฐกิจ ส่งสัญญาณเก็บกระสุนรับความเสี่ยง

 14 พ.ค. 2568 00:00

แบงก์ชาติ ห่วงภาคการลงทุนที่ต่ำต่อเนื่องจเป็นแรงะกดดันศักยภาพเศรษฐกิจไทยในอนาคต พร้อมส่งสัญญาณเก็บกระสุนรองรับความเสี่ยงในระยะยาว ขณะที่สงครามการค้าที่ผ่อนคลายลงส่งผลบวกต่อภาคส่งออกไทย แต่เป็นเรื่องชั่วคราว พร้อมยืนยันยังไม่เห็นสัญญาณจีดีพีต่อไตรมาสติดลบ


นายปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน "Monetary Policy Forum 1/2568" ถึงศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (Potential Growth) ว่า อยู่ในอัตรา 2.5 - 3% หรือต่ำกว่า 3% เล็กน้อย สิ่งที่เป็นห่วงค่อนข้างมาก คือ การลงทุนต่ำที่ต่อเนื่อง เป็นต้นตอที่ทำให้ศักยภาพเศรษฐกิจไทยชะลอลง เนื่องจากในภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน สิ่งแรกที่ชะลอ คือ การลงทุน ทำให้เศรษฐกิจระยะสั้นชะลอ แต่ระยะยาวจะขึ้นกับการปรับตัวของธุรกิจและซัพพลายเชน และความชัดเจนของนโยบายการค้าที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง รวมถึงกฎระเบียบความยากง่ายในการทำธุรกิจ ส่วนนโยบายการเงินจะมาเป็นตัวเสริม


"สิ่งที่เกิด Shock รอบนี้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการค้าการขายไปสู่โลกใหม่ หากไทยไม่ปรับตัวก็จะทำให้ศักยภาพการเติบโตของไทยลดลงได้อีก เนื่องจาก Shock รอบนี้เข้ามาในภาคการผลิต จึงต้องช่วยเร่งการลดต้นทุน การขยายตลาด เพื่อลดผลกระทบภาคการผลิต และมาตรการป้องกันสินค้าราคาถูกด้อยคุณภาพทะลักเข้ามาแข่งขัน"


ส่วนการส่งผ่านนโยบายการเงินหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมา 3 ครั้ง นับตั้งแต่ปลายปีก่อนจนถึงปัจจุบันมาอยู่ที่ระดับ 1.75% ต่อปี โดยปกติการส่งผ่านนโยบายการเงินมีหลายช่องทาง โดยธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินก็เป็นช่องทางหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันกำลังดำเนินการอยู่ แต่โดยปกติการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารจะพิจารณาตามบริบทธุรกิจและภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจะใช้เวลา 1 - 2 สัปดาห์ในการปรับลดลง แต่ผลของดอกเบี้ยจะน้อยกว่า 2 ครั้งก่อนหน้า เพราะในภาวะดอกเบี้ยต่ำและความไม่แน่นอน ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการลดดอกเบี้ยจะลดลง


"ปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายลดลงมาต่ำแล้ว ผลส่งต่ออาจจะไม่เยอะ เช่น การลงทุนแม้ลดดอกเบี้ยลงเยอะ แต่คนไม่อยากลงทุนหรือไม่อยากใช้จ่าย เพราะนโยบายการค้าไม่ชัดเจน ดังนั้น Policy Space มีไว้รองรับสถานการณ์รุนแรง เช่น วิกฤตการเงินโลก เราจะมี Policy Space ไว้เป็น Buffer ไว้รองรับ เพราะตัวที่ฉุดเศรษฐกิจ คือ นโยบายการค้า ซึ่งไม่มีอะไรที่จะทำให้เศรษฐกิจสามารถอยู่ที่เดิมได้ เราจึงต้องมองเป็น Long Game ของนโยบายการเงินที่จะทำเพื่อรองรับระยะยาว"


นายปิติ กล่าวว่า จะเห็นว่าขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space)มีRoom ไม่มากแล้วหลังดอกเบี้ยปรับลดลงมาอยู่ที่ 1.75% หากดูประเทศอื่นที่อยู่ในภาวะดอกเบี้ยต่ำแรงกระตุ้นจากการลดดอกเบี้ยก็จะน้อยลง และการส่งผ่านจะลดลง ซึ่งการเก็บ "Policy Space" เก็บไว้เพื่อใช้รองรับโลกในระยะข้างหน้าที่มีความเสี่ยงหลากหลาย และอาจมีความจำเป็นต้องใช้กระสุนช่วงนั้นน่าจะดีกว่า


สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ลดความตึงเครียด ผลเชิงบวกต่อไทย 0.1%


นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า ภาพรวมการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่มีการลดภาษีสินค้านำเข้า (Reciprocal Tariffs) และเลื่อนการขึ้นภาษีออกไปอีก 90 วันนั้น ช่วยลดความตึงเครียดและมีผลเชิงบวกกับเศรษฐกิจโลกและไทย ซึ่งดีกว่าที่ ธปท.ประเมินฉากทัศน์ไว้ โดยผลเชิงบวกต่อไทยจากปริมาณการค้าโลกไม่ลดลงมากนัก ขณะไทยเป็นซัพพลายเชนของจีน และจีนส่งออกไปสหรัฐฯได้ในช่วงระยะเวลาการเลื่อนขึ้นภาษี


โดยจากการประเมินฉากทัศน์ปีนี้ จีดีพีไทยอาจเติบโตได้ราว 2% และกรณีเลวร้ายอาจเหลือ 1.3% โดยความเสี่ยงมาจากภาคต่างประเทศ จึงมีความเสี่ยงด้านต่ำสูงขึ้น ทำให้กระทบสัญญาณการลงทุนชะงักจากความไม่แน่นอน มูลค่าการส่งออกปรับลดลง แต่สินค้าโภคภัณฑ์ปรับลดลงจากดีมานด์โลกชะลอ


นอกจากนี้ที่ห่วง คือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าทะลักเข้ามา เช่น เครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะมีปัญหาในเรื่องโครงสร้าง ซึ่งจะยิ่งเปราะบางมากขึ้น ซึ่งยังต้องติดตามพัฒนาการของการเจรจาของไทยและประเทศอื่น และมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ


"โดยรวมการเจรจาสหรัฐฯ และจีน มีผลบวกต่อเศรษฐกิจไทย 0.1% อย่างไรก็ดี ต้องรอดูผลหลัง 90 วัน เพราะเป็นการลดชั่วคราว รวมถึงผลการเจรจากับประเทศอื่นด้วย ทำให้ 2 ฉากทัศน์ที่ประเมินไว้มีความเป็นไปได้ หรือเปลี่ยนแปลงขึ้นกับผลการเจรจาและการเปลี่ยนแปลงในอนาคต"


ธปท.ยันไม่เห็นสัญญาณ GDP ติดลบ


นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า จากภาพรวมตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/68 ยังคงไม่เห็นผลกระทบจากสงครามการค้า หรือจากภาษีตอบโต้ ของสหรัฐ เพราะมีการเร่งส่งออกไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ และยังคงต้องรอดูตัวเลขจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่จะออกมาด้วย อย่างไรก็ดี คงไม่เห็นตัวเลข GDP ต่อไตรมาส (QoQ) ติดลบ แม้ว่าผลกระทบจะมีวงกว้าง - ยาวนาน แต่ไทยเคยเจอ Shock ที่ใหญ่กว่านี้มาแล้ว ก็ไม่เห็นการเติบโตติดลบเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในแต่ละไตรมาสเช่นกัน


"แม้ว่าการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายการเงินจะช่วยได้บ้าง แต่ไม่ได้ทำให้ต้นทุนความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อ (Credit Cost) ลดลง เพราะต้องยอมรับว่าผลตอบแทนของสถาบันการเงินจะมาจากส่วนของ Credit Cost ดังนั้น หากต้องการปล่อยสินเชื่อใหม่ เช่น ธุรกิจเอสเอ็มอี จะต้องพิจารณาเรื่องของ Credit Cost ซึ่งหากมีการค้ำประกันเข้ามาช่วยจะทำให้ความเสี่ยงลดลง โดยธปท.ต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงต่อไป ขณะที่เครื่องมือของธปท.มีจำกัดและมองในภาพกว้าง"